บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผนึกพลังกิจการในไทยและกิจการต่างประเทศ เดินหน้าร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกต้นไม้ อนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าต้นน้ำ ป่าชายเลนไปแล้วรวมมากกว่า 5 ล้านต้น ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 39,434 ตันต่อปี หนุนสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และกรอบความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกคุนหมิง-มอนทรีออล
นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมอนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูป่าทั้งบกและป่าชายเลน รวมทั้งปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการ ทั้งในประเทศไทยและกิจการต่างประเทศ 8 ประเทศ รวมมากกว่า 5.4 ล้านต้น ได้แก่ ตุรเคีย รัสเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินเดีย มาเลเซีย ลาว และกัมพูชา ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 39,434 ตันต่อปี สอดรับตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGS)และกรอบความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกคุนหมิง- มอนทรีออล
“ยุทธศาสตร์อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าของซีพีเอฟ สอดรับกับเป้าหมายSDGs และกรอบความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกคุนหมิง-มอนทรีออล ซึ่งเป็นเป้าหมายระดับโลกที่ให้ความสำคัญ ทั้งการอนุรักษ์ ปกป้อง การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss)และการมีส่วนร่วมของประเทศไทย เพื่อดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งที่ผ่านมา โครงการปลูกต้นไม้และฟื้นฟูป่าของซีพีเอฟ เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเป้าหมายของบริษัทในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติถือเป็นวัตถุดิบต้นทางที่สำคัญของกระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ”นางกอบบุญ กล่าว
สำหรับกิจการในประเทศไทย ซีพีเอฟปลูกต้นไม้และฟื้นฟูป่าไปแล้วมากกว่า 2.8 ล้านต้น ผ่านการดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน และปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการ อาทิ โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ที่ต.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เป็นความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟ กรมป่าไม้ และชุมชน อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 7,000 ไร่ หรือคิดเป็นจำนวนต้นไม้ที่ปลูกมากกว่า 1.3 ล้านต้น โครงการ ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน พื้นที่ 5 จังหวัดยุทธศาสตร์ (สมุทรสาคร ระยอง ชุมพร สงขลา และพังงา) รวม 2,400 ไร่ หรือคิดเป็นจำนวนต้นไม้ที่ปลูกมากกว่า 1.2 ล้านต้น โดยร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชุมชน และ โครงการรักษ์นิเวศ ปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการของซีพีเอฟทั่วไทย รวมจำนวน 2.5 แสนต้น ซึ่งทั้ง 3 โครงการ ส่งผลกระทบเชิงบวก ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการต่อยอดโครงการปลูกป่าสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิถีชุมชน และ ศูนย์เรียนรู้การปลูกป่าและระบบนิเวศ
เช่นเดียวกับ กิจการต่างประเทศของซีพีเอฟ ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการมีส่วนร่วมปลูกต้นไม้และฟื้นฟูป่าในประเทศนั้นๆ จากข้อมูลของ 8 ประเทศที่บริษัทฯ มีส่วนร่วมปลูกต้นไม้และฟื้นฟูป่ารวมมากกว่า 2.6 ล้านต้น สนับสนุนการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเป้าหมายเป็นองค์กรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)และกรอบความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกคุนหมิง- มอนทรีออล (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework)
ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ซีพีเอฟ ได้ประกาศเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นว่าด้วยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ครอบคลุมกิจการซีพีเอฟรวมทั้งคู่ค้าซึ่งจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรให้แก่ซีพีเอฟ ได้แก่ ข้าวโพด ปลาป่น น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง เป็นการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมการสร้างความตระหนักสู่พนักงานถึงคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกจิตสำนึกชุมชนรักและหวงแหนผืนป่าในพื้นที่ สนับสนุนการอยู่ร่วมกันเพื่อให้คนดูแลป่าอย่างยั่งยืน
ที่มา: เจริญโภคภัณฑ์อาหาร