สสส.และเครือข่ายงดเหล้า “ภูมิใจ ได้คุณคนใหม่” หลังผุดโมเดล SoBrink SoClub ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพชุมชนในช่วงเข้าพรรษา ผลสำรวจเผย มีผู้งดดื่มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3 ล้านคน ช่วยประเทศประหยัดเงินในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ถึง 10,280 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 พันล้านบาท ในขณะที่ ปชช.จ่อ งดเหล้าต่อปีหน้ากว่า 50% ผลศึกษา 23 ปี ชี้ “งดเหล้าเข้าพรรษา” ช่วยลดการดื่ม 9.97% ลดปริมาณน้ำเมาได้ 11.7 ล้านลิตรต่อแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่าย จัดแถลงผลการรณรงค์ ฤดูกาลสุขปลอดเหล้าและงดเหล้าเข้าพรรษา ปี 2567 “ภูมิใจ ได้คุณคนใหม่” ภายใต้สังคมสุขปลอดเหล้า เปี่ยมสุขปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า จากการประเมินโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาในปี 2567 โดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ(SAB) พบว่า มีผู้เปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ มีจำนวน รวม 13,154,239 คน (เพิ่มขึ้น 3 ล้านคนเมื่อเทียบจากปี 2566) จำแนกเป็น ผู้ที่งดตลอดเทศกาลเข้าพรรษา จำนวน 7,646,408 คน (ร้อยละ 58.1) งดเป็นบางช่วง จำนวน 2,681,000 คน (ร้อยละ20.4) และ ไม่งดแต่ลดการดื่มลง จำนวน 2,826,831 คน (ร้อยละ 21.5) สามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ยคนละ 1,959.74 บาท (เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 452.77 บาท) ซึ่งประมาณการได้ว่า จำนวนเงินโดยรวมที่ประเทศประหยัดได้ในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ เป็นจำนวนถึง 10,280,763,315 บาท (เพิ่มขึ้นกว่า 6 พันล้านบาท เมื่อเทียบ กับปีที่แล้ว ที่ประมาณการไว้ 4,227,770,171 บาท)
“กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.3 ระบุว่า ได้รับผลดีจากการลด ละ เลิกดื่มในช่วงเข้าพรรษา โดยร้อยละ 48.6 ระบุว่าสุขภาพร่างกายดีขึ้น รองลงมาร้อยละ 40.5 ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ และร้อยละ 31.4 ระบุสุขภาพจิตใจดีขึ้น และเมื่อสอบถามถึงความตั้งใจจะงด/ ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษาปีหน้า (ปี 2568) พบว่ากว่าครึ่ง หรือร้อยละ 58.4 มีความตั้งใจจะลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีก และการศึกษาข้อมูลงดเหล้าเข้าพรรษา 23 ปี
(ปี 2538-2560) ช่วยลดปริมาณการดื่มลงร้อยละ 9.97 คิดเป็นประมาณการดื่มที่ลดลง 11.7 ล้านลิตรต่อแอลกอฮอล์บริสุทธิ์“ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายงดเหล้าและประธานชมรมคนหัวใจเพชร (ประเทศไทย) กล่าวว่า การรณรงค์ในเทศกาลเข้าพรรษา ปี 2567 โดยปฏิบัติการ ชวน ช่วย ชมเชียร์ ร่วมกับพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ 77 จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงมาตรการปรับสภาพแวดล้อม เช่น การทำงานกับร้านค้าให้ปฏิบัติตามกฎหมาย การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ใช้เวลาว่างร่วมกันกับครอบครัว กิจกรรมงดเหล้าออมเงิน กิจกรรมจิตอาสาต่างๆ รวมทั้งมีการสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เข้าร่วมโปรแกรม SoBrink; เสริมพลังตับ ฟื้นพลังชีวิต ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนคนสู้เหล้า 1,010 แห่ง ขับเคลื่อนโดยชมรมคนหัวใจเพชร (40 กลุ่ม และกลุ่มพลังหญิงหัวใจเพชร (80 กลุ่ม)
“เทศกาลงดเหล้าเข้าพรรษาปี 2567 มีหน่วยงาน องค์กร เครือข่ายมาร่วมรณรงค์ความร่วมมือ มากกว่า 3,500 เครือข่าย มีผู้ลงนามปฏิญาณตนผ่านระบบฐานข้อมูล Sober CHEERs 32,495 คน แยกเป็นเพศหญิง 15,715 คน เพศชาย 16,713 คน LGBTQ+ 67 คน โดยลักษณะการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละกลุ่มจะนำมาเป็นข้อมูล ติดตามประเมิลผล ในการช่วย ลด ละ เลิกอย่างใกล้ชิด โดยความร่วมมือระหว่าง รพ.สต. อสม. และชมรมคนหัวใจเพชร จากข้อมูลของผู้เข้าร่วมโครงการงดเหล้า 3 เดือน พบว่าประหยัดเงินค่าเหล้าได้ถึง 279,496,851 บาท มีผู้งดเหล้าครบพรรษา 12,179 คน ผู้ที่ชมรมเชียร์ต่อให้เป็นคนหัวใจเพชร 6,189 คน ผู้ที่ชมรมพัฒนาศักยภาพต่อในฐานะอาสาสมัครชมรมคนหัวใจเพชรจำนวน 12,598 คน” เภสัชกรสงกรานต์ กล่าว
นางสาวพิมพ์มณี เมฆพายัพ ผู้จัดการโครงการฤดูกาลสุขปลอดเหล้าและงดเหล้าเข้าพรรษาปี 67 กล่าวว่า โครงการฯ ไม่ได้รณรงค์ให้คนงดเหล้าเพียง 3 เดือนในช่วงเข้าพรรษา แต่ดำเนินการตลอดปี โดยชมรมคนหัวใจเพชร และกลุ่มพลังหญิงในแต่ละภูมิภาค พัฒนาเป็นชุดกิจกรรม โปรแกรม SoBrink SoClub เสริมพลังตับ ฟื้นพลังชีวิต สำหรับล้างพิษและฟื้นฟูตับ ด้วยอาหารท้องถิ่นตามฤดูกาลและสมุนไพรไทย เกิดโมลเดลศูนย์เรียนรู้ 8 แห่งฯ โปรแกรมครอบครัวสุขปลอดเหล้า โปรแกรมลดเหล้า ออมเงิน สร้างสุขในครอบครัว การดำเนินงานมุ่ง 3 เป้าหมาย 1. พัฒนาคนดื่มที่ตัดสินใจเลิกเหล้า สู่คนหัวเพชร และพัฒนาศักยภาพให้เป็นนักสื่อสารและสร้างเสริมหัวใจเพชร 2. พัฒนาชุมชนงดเหล้าเข้าพรรษา สู่ชุมชนคนสู้เหล้า ชุมชนสุขปลอดเหล้า และชุมชนเปี่ยมสุขปลอดภัยปัจจัยเสี่ยง ตามลำดับ ภายใต้แนวทางชุมชนจัดการตนเองอย่างมีส่วนร่วม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ค่านิยม และสภาพแวดล้อม “สุขปลอดเหล้า และปลอด(ภัย)ปัจจัยเสี่ยงสุขภาวะ” ขับเคลื่อนโดยชมรมคนหัวใจเพชร 3.พัฒนาชมรมคนหัวใจเพชร ให้เป็นกลไกกลางในการขับเคลื่อน ทั้งด้านพัฒนาศักยภาพว่าที่คนหัวเพชร สู่นักสื่อสาร สร้างเสริมสุขภาวะหัวเพชร จัดระบบสนับสนุนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของ คนเลิกเหล้าและครอบครัว อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมทั้งเปิดพื้นที่และประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ในการจัดการชุมชนแต่ละระดับ
นายธีรัช จันทร์หอม อายุ 38 ปี จังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ดื่มครั้งแรกเมื่อเรียนอยู่ ม.ปลาย รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ และดื่มเรื่อยมา จนวัยทำงาน ก็จะเจอเพื่อนใหม่ ส่วนมากเพื่อนที่เจอก็จะดื่มเหล้า- สูบบุหรี่กันแทบทั้งนั้น หลังเลิกงานก็จะชวนกันหาร้านเหล้าและก็ดื่มเรื่อยมา เคยเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำจากการดื่มแต่ก็ยังไม่ได้เลิกดื่ม ช่วงเข้าพรรษาปีนี้ คุณลุงได้ชวนเข้าร่วมโครงการฯ ร่วมกิจกรรมดูแลสุขภาพ SoBrink SoClub รู้สึกว่าชอบมาก มีการล้างพิษ รู้สึกว่าร่างกายสดชื่นขึ้น ไม่ค่อยเหนื่อยง่ายเหมือนเมื่อก่อน เลยตั้งใจจะเลิกดื่ม ได้รับการยอมรับจากบุคคลในชุมชนมากขึ้น มีเงินเหลือเก็บเพิ่มขึ้น อยากบอกกับคนที่กำลังดื่มแอลกอฮอล์ที่กำลังตัดสินใจเลิก ให้ค่อยๆ เลิกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ลดปริมาณลงแล้วดื่มอย่างอื่นแทน เช่น น้ำโซคราฟ ที่ทำให้สดชื่นและดีต่อสุขภาพด้วย
นางสาวสิริรัตน์ อินทโน อายุ 57 จังหวัดสตูล เปิดเผยว่า เข้าร่วมโครงการฯ เป็นปีแรก เห็นสามีดื่มก็เลยดื่มด้วยเพราะอยากสนุกสนานกับเพื่อนๆ ชอบทำกับแกล้มและชวนเพื่อนๆ ตั้งวงดื่มเหล้าบ่อยๆ กลายเป็นเจ้าแม่สายเปย์ ต่อมาเลยเปิดร้านคาราโอเกะ จากที่ดื่มน้อยก็ดื่มหนักมากขึ้นและดื่มทุกวัน ที่ผ่านมามีโรคประจำตัว คือ โรคภูมิแพ้ ต้องไปหาหมอบ่อยมาก ประกอบกับมีภาวะเครียด คิดมากเพราะลูกชายมีพฤติกรรมติดเหล้า จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา สัญญากับลูกอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่ และเป็นแบบอย่างที่ดี ปัจจุบันได้ส่งลูกชายไปบำบัดแล้ว งดเหล้า 3 เดือนสุขภาพดีมาก ไม่เหนื่อยง่าย อาการภูมิแพ้หาย ประหยัดค่าเหล้าซื้อทองได้ 2 บาท และนำเงินมาปิดบัญชีผ่อนรถฟอร์จูนเนอร์ด้วย