“มนพร” อัพเดตเมกะโปรเจกต์ “ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3” เผยการก่อสร้างงานทางทะเล คืบหน้ากว่า 45% กำชับ กทท. เร่งผู้รับเหมาเดินเครื่องเต็มสูบ หวังเดินหน้างานแล้วเสร็จตามแผน พร้อมเปิดให้บริการท่าเรือ F ช่วงปลายปี 70 ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ เชื่อมการขนส่งอย่างไร้รอยต่อ หนุนนโยบายรัฐฯ ดันไทยก้าวสู่ฮับขนส่งในภูมิภาค
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีกทั้งยังนับว่าเป็น 1 ใน 15 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยการบริหารของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนโยบายของกระทรวงคมนาคม ภายใต้สโลแกน “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ที่ได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เชื่อมโยงการขนส่งอย่างไร้รอยต่อ ควบคู่กับการพัฒนาประเทศโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเป็นหลัก
ทั้งนี้ จากการรายงานของ กทท. ระบุว่า ความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2567) ดำเนินงานได้ 45.09% จากแผนปฏิบัติ 48.95% ล่าช้ากว่าแผน 3.86% โดยสาเหตุความล่าช้านั้น เนื่องจากการดำเนินงานของโครงการเป็นงานทางทะเลนอกชายฝั่ง ซึ่งประกอบด้วยงานก่อสร้างคันหินล้อมพื้นที่ถมทะเลชนิดแกนทรายเป็นส่วนใหญ่ โดยช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงมรสุมของพื้นที่แหลมฉบัง (เดือนเมษายน – เดือนพฤศจิกายน) ทำให้มีคลื่นลมแรง และเกิดปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้าง ผู้รับจ้างจึงไม่สามารถดำเนินงานได้ตามแผนงาน
นางมนพร กล่าวต่อว่า ได้กำชับ กทท. ประสานไปยังผู้ควบคุมงาน และผู้รับเหมา หรือกิจการร่วมค้า CNNC ให้เร่งรัดการดำเนินงาน รวมถึงวางแผนแก้ไขปัญหาโดยการให้ผู้รับจ้างเพิ่มเวลาในการทำงานให้มากขึ้น พร้อมทั้งให้ผู้รับจ้างเร่งดำเนินงานในช่วงที่คลื่นลมสงบ และให้ผู้รับจ้างปรับขั้นตอนการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงให้ผู้รับจ้างพิจารณาเพิ่มเครื่องจักรทางทะเล เพื่อแก้ไขความล่าช้าดังกล่าว
ขณะเดียวกัน กทท. ได้เร่งรัดการทำงานของผู้รับจ้างให้แล้วเสร็จพร้อมส่งมอบพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยต้องเร่งให้ได้เนื้องานเพิ่มขึ้นเดือนละ 3.00 – 3.50 % และมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จตามแผน พร้อมส่งมอบงานก่อสร้างส่วนที่ 1 ได้ภายในมิถุนายน 2569 รวมถึงจะไม่กระทบกับสัญญาของบริษัทเอกชนคู่สัญญาสัมปทานบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) ที่ปัจจุบันพื้นที่ F1 ถมทะเลเรียบร้อยแล้ว พร้อมส่งมอบให้ GPC ได้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2568 และสามารถเปิดให้บริการท่าเรือ F ได้ภายในสิ้นปี 2570
“ได้มอบหมายให้ กทท. เร่งรัดการดำเนินการโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ให้แล้วเสร็จทันตามกรอบเวลา ซึ่งจากการรายงานของ กทท. พบว่า ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังคงล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อแนะนำให้ กทท. กำชับทางผู้รับเหมา และผู้ควบคุมงาน ให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติงาน และวางแผนการแก้ไขปัญหาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถส่งมอบงานตามแผนที่กำหนดไว้” นางมนพร กล่าว
ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า สำหรับงานส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภคซึ่งได้มีการลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการฯ ร่วมกับบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ปัจจุบันอยู่ระหว่างบริษัทฯ เตรียมงานก่อนการก่อสร้าง ทั้งในส่วนของการขออนุญาตส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบหมุดหลักฐานอ้างอิง (Bench mark) และการเจาะสำรวจทางธรณีวิทยา (Soil Investigation) เป็นต้น
ขณะที่ งานส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนที่ 4 งานจัดหาเครื่องมือ พร้อมจัดหาและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยงานส่วนที่ 3 และ 4 อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะสามารถประกาศประกวดราคาได้ภายในต้นปี 2568 อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จจะสามารถรองรับและเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้า จาก 11 ล้าน ทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียูต่อปี
สำหรับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังนั้น สืบเนื่องจาก รัฐบาลที่ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต ถือเป็นหนึ่งในกลไกหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ เชื่อมต่อและขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) และประเทศจีนตอนใต้ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งและกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค รวมถึงยังช่วยสนับสนุนการลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศ สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ มุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคต่อไป